วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2552

"มาลีฮวนน่า" พันธุ์เล-100 โล...พรรลำ" : คอนเสิร์ตที่ดูอย่างไรก็ไม่รู้สึกอิ่ม

"มาลีฮวนน่า" พันธุ์เล-100 โล...พรรลำ" : คอนเสิร์ตที่ดูอย่างไรก็ไม่รู้สึกอิ่ม/อำนาจ

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
24 สิงหาคม 2552 14:19 น.

คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น

ผ่านไปแล้วสำหรับคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกในรอบเกือบจะสิบปีของวงดนตรีชื่อดังจากปักษ์ใต้ "มาลีฮวนน่า" ใน "พันธุ์เล-100 โล...พรรลำ" เมื่อค่ำคืนวันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา โดยมีแฟนเพลงที่เข้ามาร่วมชมชนิดไม่แน่นไม่หลวมหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
        การแสดงถูกแบ่งออกเป็น 3 ชุด ประกอบไปด้วย ชุดที่หนึ่ง "1,000 โล" เปรียบเสมือนกับการเดินทางของวงมาลีฮวนน่าตลอดระยะเวลาเกือบจะ 2 ทศวรรษ เริ่มเปิดเวทีในช่วงเวลาเกือบจะทุ่มครึ่งด้วยบทกวีโดย "ศิริวรณ์ แก้วกาญจน์" นักเขียน-นักกวีชื่อดังเจ้าของรางวัลศิลปาธร ต่อด้วยเพลงลมเพ ลมพัด, ลัง, รอยทาง คืนใจ มายา โดย อ.ไข่ คฑาวุธ ทองไทย นักร้องนำของวง
        จากนั้นแขกรับเชิญ "อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี" ก็ออกมาโชว์เสียงขลุ่ยเพราะๆ ในเพลงแผลน้อย ต่อด้วยสาวล้านนารุ่นใหญ่ "สุนทรี เวชานนท์" กับเพลงเรือน้อย และมะเมี้ยะ (จรัล มโนเพ็ชร) ก่อนที่ "โอ้ โอฬาร พรหมใจ" จะมาโชว์ลีลาโซโล่กีต้าร์ให้ฟังในเพลง ไอ้ใบ้ และปิดท้ายช่วงแรกด้วยเพลงจังหวะสนุกอย่าง ว่าวจุฬา
        เปิดตัวชุดที่สอง "พรรลำ" ด้วยบทกวีโดย "เรวัติ พันธุ์พิพัฒน์" ตามด้วยเพลงแสงจันทร์ ที่เรียกเสียงปรบมือได้ดังทีเดียวเมื่อมี แอ๊ด คาราบาว มาร่วมร้องคู่ ต่อด้วย แดดสุดท้าย, บางเงา, บ้านฉัน จากนั้นเป็นหน้าที่ของศิลปินรุ่นใหญ่ "อารักษ์ อาภากาศ" กับเพลงฮิตของเจ้าตัว ทั้ง เงาจันทร์ และ แม่นางลูกชาวนา ก่อนจะคึกคักกันด้วย โมรา, คนเลว, โจใจ และ พี่ชายที่แสนดี
        อารมณ์สนุกๆ ถูกเปลี่ยนเป็นซึ้งทันทีที่เมื่อเพื่อชีวิตรุ่นใหญ่ "หงา คาราวาน" ออกมาพร้อมกับเพลงดอกไม้ให้คุณ ต่อด้วยอะคูสติกกีต้าร์เพลง อยุธยา จากแขกรับเชิญดีเจชื่อดัง "มาโนช พุฒตาล" ผู้บริหารค่ายไมล์สโตน อีกหนึ่งคนสำคัญที่ทำให้ชื่อของมาลีฮวนน่าได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในวงการเพลง
        ชุดสุดท้าย "พันธุ์เล" เริ่มด้วยบทกวีโดยเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ พร้อมด้วยเพลง ตา-ยาย เคล้าเสียงขลุ่ย ต่อด้วย เขเรือ, มุดก้อนเมฆ รวมถึงกรรณิการ์ และลูกโดย ยงยุทธ ดำศรี ผู้ก่อตั้งวงด้ามขวาน อีกตำนานเพลงเพื่อชีวิตปักษ์ใต้ที่เป็นแรงบันดาลให้เกิดวงมาลีฮวนน่าขึ้นมา ตามติดด้วย สมิหลา-รูสะมิแล, พร้าว, สายน้ำ
        และ จดหมายถึงพ่อ, สะพานสายรุ้ง โดย "อี๊ด ฟุตบาธ" พร้อมลูกสาวทั้งสอง "ปิ๊ก-เปรียว" (สมรรถยา-สรีวันท์) ที่ต้องถือว่าโดดเด่นมากๆ ในคอนเสิร์ตครั้งนี้ โดยเฉพาะสาวเปรียวนั้น ลีลาการเล่นไวโอลินของเธอสมกับที่เคยได้เยาวชนแชมป็โลกมาแล้วจริงๆ
        ปิดท้ายคอนเสิร์ตด้วยบทเพลง แสงจันทร์ โดยชวาลา ชัยมีแรง ผู้แต่ง (รวมถึงเพลง เรือน้อย) พร้อมด้วยคณะนักร้องประสานเสียง และศิลปินรับเชิญเป็นการอำลา
        ภาพรวมของคอนเสิร์ตโดยรวมทั้งหมดต้องถือว่าน่าประทับใจ โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดแสงนั้นแม้จะเรียบง่ายแต่ก็ดูมีพลัง ขณะที่เพลงของมาลีฮวนน่าเองแม้จะเป็นเพลงช้าเสียส่วนใหญ่ ทว่าด้วยเนื้อหา ด้วยเอกลักษณ์เสียงร้อง ลีลา และท่าทาง มือไม้ ที่ชวนให้อารมณ์ของ อ.ไข่ นั่นเองที่สามารถสะกดให้คนดูให้ต้องตั้งใจดู ตั้งใจฟัง อย่างไม่รู้สึกง่วงหาวนอน แม้ในบางเวลาบรรยากาศอาจจะเนือยๆ ไปบ้างก็ตาม
        ที่สำคัญ แม้เนื้อหาของเพลงมาลีฮวนน่าบางเพลงจะชวนให้ออกไปในแนวชวนเศร้า หดหู่ รวมถึงอาจจะถึงชวนเครียดในเชิงของความคิดที่ค่อนข้างจะเป็นปรัชญา ทว่าก็ด้วยเสียงของนักร้องนำอย่าง อ.ไข่อีกนั่นแหละที่ทำให้บทเพลงที่ว่านี้เจือไปด้วยความโรแมนติกอย่างน่าประหลาด
        เห็นได้ชัดจากเพลง แสงจันทร์ ที่ แอ๊ด คาราบาว ขึ้นมาร่วมร้อง ที่ให้อารมณ์กินใจ แบบหนุ่มนักเลงลูกทุ่ง ขณะที่ทางฟากท่อนของ อ.ไข่ นั้นจะออกไปในแนวของผู้ชายที่มีจิตใจละมุน ชวนฝัน หวานซึ้ง
อย่างไรก็ตาม แม้โดยรวม "พันธุ์เล-100 โล...พรรลำ" จะเป็นคอนเสิร์ตที่ชวนให้น่าประทับใจโดยเฉพาะในความรู้สึกของแฟนเพลงที่ "คิดถึง" และมีแขกรับเชิญระดับขั้นเทพมาร่วมหลายคน แต่ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า คอนเสิร์ตนี้ดูอย่างไรก็ไม่อิ่ม! ไม่เต็ม!
        มาลีฮวนน่า แจ้งเกิดและเป็นที่รู้จักในวงการเพลงบ้านเราด้วยอัลบั้มชุด "บุปผาชน" ในรูปแบบของการทำงานเพลงแบบอินดี้ เมื่อปี พ.ศ. 2537 โดยมีสมาชิก 4 คนประกอบไปด้วย คฑาวุธ ทองไทย(ใข่) - ร้องนำ/แต่งเพลง, ธงชัย รักษ์รงค์(ธง) - ร้องนำ/กีต้าร์/แต่งเพลง, สมพงษ์ ศิวิโรจน์(พงษ์) - แต่งเพลง/ร้องเพลง และเชิดชัย ศิริโภคา(โก๊ย) - แต่งเพลง/กีต้าร์
        หลังประสบความสำเร็จในตลาดใต้ดิน ปี พ.ศ.2538 มาลีฮวนน่าย้ายมาสังกัดกับค่ายไมล์สโตนของมาโนช พุฒตาล มีผลงานออกมาอีก 2 ชุด คือ คนเช็ดเงา (พ.ศ. 2539) และ กลับกลาย (พ.ศ. 2542) จากนั้น 2 สมาชิกอย่างคฑาวุธ และธงชัยก็ได้มาร่วมกันตั้งบริษัท ดรีม เรคคอร์ด ขึ้น มีอัลบั้มชุด เพื่อนเพ ออกมาในปี พ.ศ. 2543 ก่อนจะเกิดความขัดแย้งภายในวงที่ว่ากันว่ามาจากเรื่องของผลประโยชน์จากการขายงานอัลบั้มดังกล่าว บวกกับชุดการแสดงคอนเสิร์ตใหญ่ "ระบำสยาม" ในปี พ.ศ.2544
        ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นรุนแรงถึงขนาดที่ต้องเรียกว่าวงแตก! เกิดปัญหาในเรื่องของการนำเอาคำว่า "มาลีฮวนน่า" ไปใช้ ตลอดจนปัญหาเรื่องของลิขสิทธิ์เพลงที่ซ้ำกันใน 2 อัลบั้มที่ออกมาเมื่อปี พ.ศ.2546 ระหว่างชุด เปรือย ที่ออกในชื่อของ "มาลีฮวนน่า" กับอัลบั้มชุด ลมใต้ปีก ที่ออกมาในชื่อของ "ไข่ มาลีฮวนน่า"
        การเกิดขึ้นของ "พันธุ์เล-100 โล...พรรลำ" โดยบริษัทวอร์เนอร์ มิวสิค ประเทศไทย ที่ถูกโฆษณาว่าเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ในรอบหลายปีของวงมาลีฮวนน่า ซ้ำยังแสดงที่เวทีหอใหญ่ ธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นเวทีสุดท้ายที่มาลีฮวนน่ายุคครบวงแสดงไว้ในคอนเสิร์ตระบำสยามในครั้งนี้คงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจนักหากจะมีแฟนเพลงจำนวนไม่น้อยที่คาดหวังว่ารอยร้าว รอยรั่วต่างๆ ของวงดนตรีวงนี้อาจจะถูกอุดไปแล้ว
        ทว่าพลันที่แสงไฟของคอนเสิร์ตดับ-ม่านที่รูดปิด โดยปราศจากเสียงเพลงที่เป็นตำนานจากอัลบั้มชุดแรก บุปผาชน ซึ่งทำให้ใครหลายคนรู้จักและสมัครเป็นแฟนมาลีฮวนน่า ทั้ง หัวใจละเหี่ย, เรือรักกระดาษ, หัวใจพรือโฉ้, รักสาวพรานนก ซึ่งเขียนคำร้องทำนองโดย สมพงษ์ ศิวิโรจน์, ลานนม-ลมเน โดยเชิด ศิริโสภา รวมถึงบทเพลง ชุ่มฉ่ำในดวงใจ ที่สะท้อนถึงมิตรภาพของความเป็นเพื่อน เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่ารอยร้าวที่ว่าหาได้ถูกฉาบทาด้วยความเข้าอกเข้าใจแล้วแต่อย่างใด
        หรือแม้กระทั่งการไม่มีเพลง อย่าง กระท่อมกัญชา ของ คำรณ สัมบุณณานนท์ เพลง ในฝัน (คำร้อง/ทำนองครูเบญจมินทร์) เพลงเด่นในอัลบั้ม ปลายแสด (พ.ศ. 2549) ชุดล่าสุดของมาลีฮวนน่า ซึ่งแสดงให้เห็นด้วยว่า โลกของงานศิลปะ-บทเพลง-บทกวี-ดนตรี ฯ อันเป็นสิ่งที่ศิลปินส่วนใหญ่ย้ำนักย้ำหนาว่าจะต้องเกิดขึ้นมาด้วยความคิดและจิตใจที่บริสุทธิ์ อิสระเสรี เหนืออื่นใดก็คือจุดมุ่งหมายก็เพื่อจรรโลงโลก, ร้อยเรียง เชื่อมเกี่ยวเพื่อให้มนุษย์อยู่ด้วยกันอย่างสันติ นั้น
บางครั้งอุดมคติเหล่านี้มันก็พ่ายแพ้ให้กับผลประโยชน์ อำนาจของลิขสิทธิ์ อำนาจขอบข่ายของเงินตรา เรื่อยไปจนถึง ทิฐิ หรือแม้กระทั่งสิ่งที่เราเรียกกันว่าศักดิ์ศรีได้เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น